top of page

  

                    2.4 หมอชีวกโกมารภัจจ์

           

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                       

 

                        1. ประวัติ

                        หมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นบุตรของนางสาลวดี นางนครโสเภณีประจำเมืองคฟห์ แคว้นมคธ ซึ่งตำแหน่งนางนครโสเภณีสมัยนั้นถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติเพราะมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ต่างจากสมัยนี้เพราะผู้ประกอบอาชีพนี้เป็นที่ดูหมิ่นเหยียดหยามของบุคคลทั่วไป นางสาลวดีตั้งครรภ์โดยบังเอิญ เมื่อคลอดบุตรชายออกมาจึงสั่งให้สาวใช้นำไปทิ้งไว้กองขยะนอกเมือง เคราะห์ดีที่อภัยราชกุมาร พระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสารไปพบเข้าขณะที่เสด็จไปนอกเมือง จึงทรงนำมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ชื่อ “ชีวก” ตั้งขึ้นตามคำกราบทูลตอบคำถามของพระองค์ที่ตรัสถามว่า “เด็กยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า” มหาดเล็กกราบทูลว่า “ยังมีชีวิตอยู่”  ส่วนคำว่า โกมารภัจจ์ แปลว่า กุมารที่ได้รับการเลี้ยงดู หรือ กุมารในราชสำนัก อันหมายถึง บุตรบุญธรรม นั่นเอง

            เมื่อชีวกโกมารภัจจ์โตขึ้นถูกพวกเด็กๆ ในวังล้อเลียนว่า “เจ้าลูกไม่มีพ่อ” ด้วยความมานะจึงหนีพระบิดาเลี้ยงไปเรียนศิลปวิทยาที่เมืองตักกสิลา เพื่อเอาชนะคำดูหมิ่นของพวกเด็กในวังให้ได้ วิชาที่ชีวกเรียนคือแพทย์ เนื่องจากไม่มีค่าเล่าเรียนให้อาจารย์ จึงอาสาอยู่รับใช้อาจารย์สารพัดแล้วแต่ท่านจะใช้ อาศัยเป็นเด็กอ่อนน้อมถ่อมตน มีความเคารพเชื่อฟังอาจารย์ จึงเป็นที่โปรดปรานของอาจารย์มาก มีศิลปวิทยาเท่าไหร อาจารย์ถ่ายทอดให้หมดโดยไม่ปิดบังอำพราง ชีวกเรียนวิชาแพทย์อยู่ 7 ปี จึงไปกราบลาอาจารย์กลับบ้าน อาจารย์ได้ทดสอบความรู้โดยให้เข้าป่าไปสำรวจดูต้นไม้ว่าต้นไหนใช้ทำยาไม่ได้ ให้นำตัวอย่างกลับมาให้อาจารย์ดู ปรากฏว่าเขาเดินกลับมามือเปล่า เพราะต้นไม้ทุกต้นใช้ทำยาได้หมด อาจารย์บอกเขาว่าเขาได้เรียนจบแล้วจึงอนุญาตให้เขากลับหลังจากกลับมายังเมืองราชคฤห์แล้ว ชีวกได้ถวายทำการรักษาอาการพระประชวรของพระเจ้าพิมพิสารหายขาดจาก “ภคันทลาพาธ” โรคริดสีดวงทวาร ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหมอหลวง พร้อมทั้งพระราชทานสวนมะม่วงให้เป็นสมบัติอีกด้วย ต่อมาชีวกได้ถวายสวนมะม่วงแห่งนี้ให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายได้ถวายการรักษาแด่พระบรมศาสดาเมื่อคราวพระองค์ทรงพระประชวร และถวายตัวเป็นแพทย์ประจำพระองค์อีกด้วย

            ครั้งหนึ่งเขาได้ไปถวายรักษาพยาบาลพระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งกรุงอุชเชนีแคว้นอวันดี หายจากโรคร้าย ได้รับพระราชทานผ้าแพรเนื้อละเอียดมาผืนหนึ่ง เขานำไปถวายพระพุทธเจ้า เนื่องจากสมัยนั้น พระภิกษุสงฆ์ถือผ้าบังสุกุลอย่างเดียว คือแสวงหาเศษผ้าที่ชาวบ้านเขาทิ้งแล้ว เช่น ผ้าห่อศพมาเย็บทำจีวรที่คฤหัสถ์ทำถวาย หมอชีวกจึงกราบทูลขอพระพุทธเจ้าให้ทรงรับผ้าแพรที่เขาน้อมถวาย และให้ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับผ้าจีวรให้ชาวบ้านผู้มีศรัทธาจัดถวายด้วย พระพุทธเจ้าทรงรับผ้าจากหมอชีวก และประทานอนุญาตให้พระสงฆ์รับผ้าที่ชาวบ้านนำมาถวายได้แต่บัดนั้น

            หมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นอุบาสกที่ดีคนหนึ่ง นอกจากถวายการรักษาพยาบาลพระพุทธเจ้า พระภิกษุสงฆ์ และประชาชนแล้ว ยังหาเวลาเข้าเฝ้าทูลถามปัญหาข้อข้องใจธรรมจากพระพุทธเจ้าเนืองๆ มีพระสูตรหลายสูตรที่สูตรที่บันทึกคำสนทนาและปัญหาของหมอชีวก ทั้งนี้เรื่องที่หมอชีวกนำขึ้นมากราบทูลถามเพื่อความรู้ที่ถูกต้องล้วนเป็นเรื่องสำคัญที่น่ารู้ เช่นพระพุทธเจ้าเสวยเนื้อสัตว์หรือไม่ อุบาสกที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร เป็นต้น

            ตลอดชีวิตหมอชีวกได้บำเพ็ญแต่สิ่งที่ดีงาม ช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย ไม่เลือกยากดีมีจน จนได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็น เอตทัคคะ ความเป็นเลิศกว่าผู้อื่น ในทางเป็นที่รักของปวงชน ในวงการแพทย์แผนโบราณปัจจุบันนี้ ถือว่าหมอชีวกโกมารภัจจ์เป็น “บรมครูแห่งการแพทย์แผนโบราณ” เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป

 

2) คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

            2.1 เป็นผู้มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูงยิ่ง

                        หมอชีวกกุมารภัจจ์มีความตั้งใจแน่วแน่ตั้งแต่ยังเด็กแล้วว่าจะศึกษาวิชาการ เพื่อให้เป็นที่นับหน้าถือตาของคนอื่นให้จงได้ เมื่อถูกดูหมิ่นเหยียดหยามจากบรรดาเด็กๆในวังว่าเป็นลูกไม่มีพ่อ แทนที่จะโต้ตอบในแง่ลบ เช่น ด่าตอบหรือทำร้าย เขากลับคิดในแง่สร้างสรรค์ว่า สักวันหนึ่งเถอะ จะเรียนวิชาใส่ตัวเอาชนะพวกลูกมีพ่อเหล่านี้ให้ได้ จึงได้เดินทางไปศึกษาวิชาแพทย์จนสำเร็จสมความตั้งใจ ที่เขาได้เคลื่อนย้ายสถานภาพจากเด็กกำพร้ากลายมาเป็นนายแพทย์ผู้เป็นที่เคารพนับถือของคนเกือบทั่วประเทศได้ เช่นนี้ ก็เพราะเขามีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูงมาตั้งแต่สมัยยังเด็กนั่นเอง

            2.2 เป็นผู้ใฝ่รู้และมีความพากเพียรสูง

                        เมื่อตั้งใจศึกษาเล่าเรียนวิชาใด ก็พยายามหาทางให้ได้เรียน แม้ไม่มีเงินค่าเดินทางก็พยายามตีสนิทกับพวกพ่อค้าวานิชต่างเมืองขออาศัยเดินทางไปยังเมืองตักกสิลาจนได้ รวมทั้งได้ใช้แรงงาน คือการอยู่รับใช้งานของอาจารย์ แลกกับสิทธิการได้ศึกษาเล่าเรียน ซึ่งแน่นอนว่าการทำงานสารพัดไปด้วยเรียนไปด้วย จะต้องยากลำบากเพียงใดแต่ก็ไม่ย่อท้อ ตั้งใจศึกษาวิชาการจากอาจารย์ด้วยความเคารพและอดทนจนกระทั่งสำเร็จการศึกษา

            2.3 เป็นอุบาสกที่ดี

                        หมอชีวกโกมารภัจจ์มีความเคารพในพระพุทธเจ้าและยึดมั่นในพระรัตนตรัยมาก จะเห็นได้จากการที่เขาถวายสวนมะม่วงให้เป็นวัด และเมื่อได้สิ่งที่ดีเช่น ได้ผ้าเนื้อละเอียดมาก็นึกถึงพระพุทธเจ้าขึ้นมาทันทีและนำไปถวาย เมื่อครั้งพระเจ้าอชาตศตรูทรงเกิดความเดือดร้อนพระทัยเนื่องจากได้ปลงพระชนม์พระราชบิดา จนสะดุ้งหวาดกลัวจนบรรทมไม่หลับ พระองค์ตรัสถามหมอชีวกว่ามีวิธีใดที่จะทำให้พระองค์สงบพระทัยได้ หมอชีวกได้ถวายคำแนะนำให้พระเจ้าชาตศตรูไปเฝ้าพระพุทะเจ้าและพระสงฆ์ จนกระทั่งพระเจ้าอชาตศตรูได้ถวายตนเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า การชักจูงคนที่ยังไม่มีจิตศรัทธาให้เกิดการศรัทธาในพระรัตนตรัย การให้คำแนะนำแก่คนที่มีความทุกข์ให้ได้พบทางผ่อนคลายทุกข์เช่นนี้นับเป็นหน้าที่ของอุบาสกที่ดีของพระพุทธศาสนา

            2.4  เป็นผู้เสียสละอย่างยิ่ง

                        หมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นทั้งแพทย์หลวง แพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า ขณะเดียวกันก็ยังดูแลประชาชนอีกด้วย ทำให้หาเวลาพักผ่อนได้ยาก ดังครั้งหนึ่งเมื่อเขาได้ทราบพระพุทธเจ้าถูกเทวทัตทำร้ายบาดเจ็บ (พระเทวทัตกลิ้งหินหมายให้ทับพระองค์ ก่อนหินกลิ้งลงมาปะทะชะง่อนผา สะเก็ดหินไปต้องพระบาทจนห้อพระโลหิต) ก็รีบไปถวายการรักษาพยาบาลพันแผลที่พระบาท แล้วรีบเข้าไปตรวจคนไข้ในเมือง ตั้งใจว่าตอนค่ำจะกลับไปแก้พันแผล แต่ประตูเมืองปิดเสียก่อน ทำให้ต้องรอจนกระทั่งรุ่งเช้า ท่านรีบเร่งเข้าเฝ้าด้วยความเป็นห่วงในพระอาการประชวรของพระพุทธเจ้า เสร็จจากนั้นแล้วก็รีบเข้าเมืองเพื่อรักษาพยาบาลประชาชนต่อไป ท่านต้องเสียสละทั้งเวลาส่วนตน เพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่พระศาสนาและประชาชน เพราะความเป็นคนเสียสละถึงดังนี้ ท่านจึงเป็นที่รักของปวงชนดังที่ทราบอยู่แล้ว

bottom of page