top of page

     

      2.3 พระนางมัลลิกา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

           1. ประวัติ

            พระนางมัลลิกามีบทบาทสำคัญในทางพระพุทธศาสนามีอยู่ 2 คน คนหนึ่งเป็นธิดานายมาลาการ (ช่างทำดอกไม้) ในเมืองสาวัตถี ต่อมาได้เป็นมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระนางมัลลิกาอีกคนหนึ่งเป็นธิดาของมัลลกกษัตริย์องค์หนึ่ง ในเมืองกุสินารา ภายหลังได้สมรสกับพันธุลเสนาบดี ซึ่งพระนางมัลลิกาที่ได้ศึกษาในที่นี้ หมายถึง พระนางผู้เป็นภรรยาของพันธุลเสนาบดี

            พันธุระเสนาบดีนั้น เป็นโอรสของพระเจ้ามัลละในเมืองกุสินารา เป็นศิษย์ศึกษาศิลปวิทยาในสำนักเดียวกันกับปเสนทิกุมารแห่งแคว้นโกศล เมื่อจบศิลปวิทยากลับไปยังกุสินารานคร ได้แสดงศิลปวิทยาที่ได้ฝึกฝนอบรมมาแห่งสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ให้เหล่ามัลลกกษัตริย์ชมแต่ถูกเจ้ามัลละบางพวกแกล้ง ทำให้การแสดงนั้นไม่ดีเท่าที่ควร ด้วยความน้อยใจจึงหนีไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารของปเสนทิกุมาร ซึ่งขณะนั้นได้ครองราชย์สมบัติเป็นพระเจ้าปเสนทอโกศล แล้วพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทรงสถาปนาพันธุละในตำแหน่เสนาบดี พันธุลเสนาบดีก็ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุรพระเจ้าปเสนทิโกศลด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

            สำหรับพันธุลเสนาบดีผู้นี้ได้ทำการสมรสกับเจ้าหญิงมัลลิกา พระธิดาของกษัตริย์มัลละภายหลังแต่งงานแล้วเป็นเวลานาน พระนางมัลลิกาก็ยังไม่มีบุตรไว้สืบตระกูล จนสามีคิดว่าพระนางเป็นหมัน จึงส่งพระนางกลับตระกูลของตน (ตามความเชื่อของชาวชมพูทวีปสมัยนั้นถือว่าสตรีที่ไม่สามารถให้กำเนิดบุตรสืบสกุลให้สามีเป็นคนอาภัพ จะต้องถูกส่งตัวกลับยังตระกูลเดิมของตนทันที) พระนางมัลลิการู้สึกเสียใจมาก แต่ก็สู้อดกลั้นไว้ คิดว่าก่อนจะกลับไปเมืองกุสินาราบ้านเกิดของตนจะไปถวายบังคมพระพุทธเจ้าก่อน จึงไปถวายบังคมพระพุทธองค์ที่พระเชตวัน

            พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “เธอจะไปไหน” พระนางกราบทูลว่า “ ดิฉันจะกลับไปยังเมืองมาตุภูมิ เพราะไม่สามารถให้กำเนิดบุตรแก่สามีได้ จึงถูกส่งตัวกลับ  พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ ถ้าเธอจะกลับเพราะเหตุนี้ ไม่ต้องกลับก็ได้”

            พระนางมัลลิกาคิดว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้รอบรู้การณ์ไกล ย่อมจะทรงทราบอะไรล่วงหน้าได้แจ่มชัด เห็นทีเราคงจักมีบุตรแน่ๆ พระองค์จึงตรัสอย่างนี้ พระนางรู้สึกดีใจเป็นล้นพ้น จึงเดินทางกลับบ้านทันที เมื่อสามีถามสาเหตุของการกลับมา พระนางจึงแจ้งพระดำรัสของพระพุทธองค์ให้ทรงทราบ พันธุระเสนาบดีผู้เป็นสามีเมื่อทราบแล้วก็ปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง

            อยู่มาไม่นานพระนางจึงแพ้ท้องอยากลงอาบและดื่มน้ำในสระโบกขรณี อันเป็นสระน้ำมงคล และเป็นที่หวงแหนของพระเจ้าลิจฉวีเมืองไพศาลี สระนี้ได้รับการอาลักขาอย่างแข็งแรงขึงตาข่ายไว้โดยรอบ แม้นกก็ไม่สามารถบินผ่านเข้าไปได้ พันธุระเสนาบดีอุ้มภริยาขึ้นรถถือธนูคู่ชีพ ขับออกไปจากเมือง มุ่งหน้าเข้าไปยังเมืองไพศาลี

            เมื่อพันธุระเสนาบดีเข้าไปยังเมืองไพศาลีแล้ว ก็มุ่งตรงไปยังสระโบกขรณี ถือแส้หวายหวดเหล่าทหารผู้อารักขาสระน้ำจนแตกกระจาย ตัดตาข่ายโลหะให้ภริยาลงอบน้ำ ดื่มน้ำแล้วอุ้มขึ้นรถห้อตะบึงกลับ พวกเจ้าลิจฉวีเมื่อทราบว่ามีผู้บุกรุกสระน้ำศักดิ์ศิทธิ์ของตน จึงพากันออกติดตาม ขณะนั้นมหาลิ สหายร่วมสำนักของพันธุลเสนาบดี ซึ่งบัดนี้ตาบอดสองข้าง และเป็นอาจารย์ของลิจฉวีราชกุมารทั้งหลาย ได้ยินเสียงฝีเท้าม้าและล้อรถวิ่งผ่านไป รู้ทันทีว่าเป็นพัธูลเสนาบดีผู้เกรียงไกร จึงร้องห้ามพวกลิจฉวีไม่ให้ตามไปเพราะจะเป็นอันตรายแก่ชีวิต แต่พวกเจ้าลิจฉวีไม่เชื่อฟัง

           

พันธุลเสนาบดีบอกภริยาว่า ถ้ารถม้าที่ตามมาปรากฏเป็นแนวเดียวกันเมื่อใดให้บอกทันที เมื่อพระนางมัลลิกาได้บอกว่ารถได้เรียงแถวเป็นแนวเดียวกันหมดแล้ว พันธุลเสนาบดีได้โก่งคันศรปล่อยธนูไปด้วยความแรงลูกธนูออกจากแล่งด้วยความเร็วเจาะเกาะทะลุหัวใจของมัลลกษัตริย์ 500 คนพร้อมกันล้มลงสิ้นชีวิตหมด

            ต่อมาพระนางมัลลิกาก็ได้คลอดบุตรชายฝาแฝดสิบหกครั้ง ครั้งละ 2 คน มีบุตรรวม 32คน บุตรทั้งหมดเจริญเติบโตเต็มวัยแล้ว ก็ได้เรียนศิลปวิทยาสำเร็จกันทุกคน แต่ละคนก็มีบุรุษบริวารจำนวนพันคน อยู่มาวันหนึ่งท่านพันธุลเสนาบดีได้ทราบว่าพวกอำมาตย์ผู้วินิจฉัยคดี วินิจฉัยคดีด้วยความไม่ซื่อสัตย์สุจริต จึงวินิจฉัยคดีเสียเอง โดยให้ความยุติธรรมแก่เจ้าทุกข์ ทำให้ประชาชนแซ่ซ้องสาธุการกันมาก เรื่องรู้ไปถึงพระกรรณของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์จึงมอบหน้าที่วินิจฉัยคดีแก่พันธุลเสนาบดีอีกตำแหน่งหนึ่ง พวกตุลาการที่หลุดจากตำแหน่ง จึงหาทางยุยงพระราชาว่าพันธุลเสนาบดีกำลังคิดก่อการกบฏ แรกๆพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ไม่ทรงเชื่อ แต่เมื่อมีผู้เพ็ดทูลเช่นนั้นบ่อยเข้า ก็ทรงคลางแคลงพระทัย จึงหาอุบายให้พันธุลเสนาบดีไปปราบโจรที่ชายแดน และทรงส่งทหารไปดักฆ่าพันธุลเสนาบดีพร้อมบุตรชาย 32 คน จนสิ้นชีวิตทั้งหมด

            วันที่พันธุลเสนาบดีและบุตรชายทั้งหมดถูกฆ่า พระนางมัลลิกาได้นิมนต์พระอัครสาวกทั้งสอง คือ พระสาลีบุตรและพระโมคคัลลานะ พร้อมภิกษุ 500 รูป           ไปฉันภัตตาหารที่บ้าน เช้าวันนั้น มีคนนำจดหมายมาแจ้งว่าสามีและบุตรของพระนางถูกโจรฆ่าตายทั้งหมดสิ้น เมื่อพระนางทราบเรื่องแล้วก็ทรงพยายามหักห้ามความเศร้าโศกไว้ เหน็บจดหมายไว้ที่ชายพก ยังคงถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ขณะนั้นสาวใช้ถือถาดเนยใสเข้ามา ทำถาดตกแตกต่อหน้าพระสารีบุตรเถระ พระสารีบุตรกล่าวสอนว่า “ ของที่จะต้องแตกเป็นธรรมดา ก็แตกไปแล้วไม่ควรคิดอะไรมาก”

            พระนางมัลลิกาจึงนำจดหมายออกจากชายพกเรียนต่อพระเถระว่า “ ดิฉันได้ข่าวว่าสามีและบุตรชายทั้ง 32 คนตายเสียแล้ว เมื่อเช้านี้ยังไม่คิดอะไร เพียงแค่ถาดเนยใสแตก จะคิดอะไรเล่า” พรสารีบุตรเถระได้เทศนาสอนให้นางมัลลิกาเข้าใจชีวิตด้วยคาถาสั้นๆว่า “ ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ไม่มีนิมิตหมาย ตายที่ไหน เมื่อใด ด้วยอาการอย่างไร สั้นนัก เป็นอยู่ลำบากและประกอบด้วยความทุกข์”

            พระนางมัลลิกาเรียกสะใภ้ทั้ง 32 คนมาให้โอวาทว่า สามีของพวกเธอไม่มีความผิด แต่ได้รับผลกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อน พวกเธออย่าได้เศร้าโศกไปเลย และอย่าผูกอาฆาตพยาบาทผู้ที่เป็นต้นเหตุให้สามีของพวกเธอตาย

            จาบุรุษ ผู้สอดแนม ที่พระเจ้าปเสนทิโกศลส่งมาสอดแนม ได้นำข้อความที่พระนางมัลลิกาสอนแก่สะใภ้ไปกราบทูลให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบ พระองค์ทรงสลดพระราชหฤทัยที่หลงเชื่อคนผิด ทำให้พันธุลเสนาบดีผู้ซื่อสัตย์พร้อมบุตรต้องเสียชีวิต และทรงซาบซึ้งในน้ำใจอันดีงามของพระยางมัลลิกา จึงเสด็จไปทรงปลอบใจพระนางถึงที่พัก ทรงขอโทษที่ทรงเป็นต้นเหตุให้สามีและบุตรของพระนางเสียชีวิต และพระราชทานพระบรมราชานุญาติให้พระนางมัลลิกาและสะใภ้ทั้ง 32 คน กลับไปกุสินารานครตามเดิม   

2. คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

            2.1 เป็นสาวิกาที่ดีของพระพุทธเจ้า

                        ข้อนี้เห็นได้ชัดจากกรณีทีพระนางถูกสามีส่งกลับบ้านเกิด เพราะไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้ ก็คิดถึงพระพุทธเจ้าก่อนอื่น คือคิดจะไปถวายบังคมพระพุทธองค์ก่อนจะทำอย่างอื่น นี่เป็นตัวอย่างที่ดีว่า คนเรานั้นต้องมั่นคงในพระรัตนตรัย ก่อนจะทำอะไรก็ได้ “นึกถึงพระ” ก่อน แล้วโอกาสจะทำผิดพลาดย่อมมีน้อยหรือไม่มีเลย

            2.2 เข้าใจโลกและชีวิต

                        พระนางมีความเข้าใจธรรมดาของโลกและชีวิตเป็นอย่างดี คือ เข้าใจว่าทุกอย่าต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกฎธรรมชาติ เมื่อเข้าใจเช่นนี้ย่อมมีจิตปล่อยว่าง ไม่ดีใจเกินไปเมื่อได้สุข ไม่เสียใจเกินไปเมื่อได้ทุกข์

            2.3 เป็นผู้มีความอดทน

                        จากตัวอย่างข้างต้นแสดงว่าพระนางมีขันติธรรมสูงยิ่ง เสมือนหนึ่งว่าไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้น สู้อดกลั้นความเสียใจ ยังคงปฎิบัติหน้าที่คือการเลี้ยงภัตตาหารแด่พระสงฆ์ตามปกติ

            2.4 เป็นผู้มีใจกว้าง

                        มีเมตตากรุณาสูงยิ่ง สามีและบุตรถูกฆ่าตายทั้งที่ไม่มีความผิด พระนางแม้จะมีความเสียใจ เสียดาย แต่ก็ทำใจได้ ไม่ผูกอาฆาตพยาบาทผู้ที่เป็นต้นเหตุให้พวกเขาตาย และยังสอนสะใภ้ทั้ง 32 คนไม่ให้ผูกอาฆาตด้วย ให้ถือว่าเป็นผลกรรมของแต่ละคนที่ทำมา นับว่าเป็นผู้มีเมตตากรุณาแท้จริง น้อยคนจะทำได้อย่างนี้

            4.5 เป็นภรรยาที่ดี

                        แม้ถูกสามีส่งกลับมาตุภูมิเพราะหาว่าเป็นหมัน พระนางก็ยินดีปฎิบัติตาม ทั้งๆ ที่การที่สามีภรรยาแต่งงานกันแล้วไม่มีบุตรนั้น ยังไม่แน่ว่าเป็นความบกพร่องของใคร อาจจะเป็นความบกพร่องของสามีก็ได้ แต่พระนางก็ยอมรับว่าตนบกพร่องนับว่าเป็นภรรยาที่ดีตามคติของชาวชมพูทวีปสมัยโบราณ ปัจจุบันคุณสมบัติข้อนี้ ถึงแม้เราจะไม่ได้นำมาใช้ทั้งหมด แต่ก็สามารถปรับใช้ในประเด็นที่ว่า เมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นในครอบครัว ภรรยา หรือสามี ก็ไม่ควรโทษอีกฝ่ายหนึ่งแต่อย่างเดียว ควรหันมาพิจารณาตนเองด้วยว่าตนเองก็อาจมีข้อบกพร่องอะไรที่ควรปรับปรุงบ้าง เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างราบรื่น

bottom of page